การที่เราสามารถจับโกหกได้เมื่อมีคนพูดโกหกกับเราทั้งคำโกหกที่ไม่มีพิษภัย และโกหกคำโตที่ก่อเรื่องได้นั้นสำคัญมากโดยเฉพาะในธุรกิจ เพราะนั่นอาจหมายถึงข้อตกลงที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ มาลองพัฒนาทักษะที่จะแยกระหว่างเจตนาดีกับการหลอกลวงด้วยเคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ
!!
1.ฟังให้ดี!!
เคยสังเกตหรือไม่ว่าระดับเสียงของบางคนเปลี่ยนไปจากปกติ เคยได้ยินเสียงแตกปร่าทั้งที่คนคนนั้นไม่ใช่คนเสียงแตกไหม ควรใส่ใจกับเสียงที่เปลี่ยนไปเพราะอาจบ่งบอกถึงการหลอกลวง
ผลพิสูจน์ระบุชัดเมื่อพอล เอ็กแมนและมอรีน โอซุลลิแวน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกทดสอบคน 509 คน ทั้งจากหน่วยราชการลับ, ซีไอเอ, เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ, นักจิตเวช และนักศึกษาเรื่องความสามารถในการจับโกหก โดยให้ผู้ทดสอบทั้งหมดดูวิดีโอที่มีคนสิบคนทั้งคนที่โกหกและคนที่พูดความ จริง
ในวิดีโอ หญิงผู้หนึ่งบรรยายความสวยของดอกไม้ที่เธอมองอยู่ แม้จะยิ้มขณะพูด แต่บางคนสังเกตว่าเธอพูดจาไม่เต็มเสียง คำพูดขาดความสดใส และมือดูจะเกร็งไม่ผ่อนคลาย หน่วยราชการลับคนหนึ่งบอกว่าเธอโกหกแน่นอน เขาพูดถูก (ส่วนใหญ่หน่วยราชการลับมักจับคนโกหกได้ถึง 86% พวกเขาเก่งกว่าใครในเรื่องนี้)
ถึงกระนั้น พฤติกรรมอื่นๆก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย เสียงที่เปลี่ยนไปมักบ่งบอกว่าโกหก "ความเร็วในการพูดเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าไป รวมทั้งการหายใจที่เปลี่ยนไป" โอซุลลิแวนกล่าว
2. ดูคำที่ใช้
แล้วถ้าเป็นข้อเขียนล่ะ เราจะจับโกหกในจดหมาย เอกสาร หรืออีเมล์ได้หรือไม่ ที่มหาวิทยาลัยเทกซัส ศาสตราจารย์เจมส์ เพนนีเบเคอร์และเพื่อนร่วมงานพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ชื่อ Linguistic Inquiry and Word Count (LIWC) ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์ข้อเขียนและคำพูดว่าโกหกหรือไม่ เพนนีเบเคอร์บอกว่าการพูดโกหกจะบอกได้จากสองสิ่งที่สำคัญ
อย่างแรกคือ นักโป้ปดจะใช้คำสรรพนามของบุรุษที่หนึ่ง เช่น ฉัน, ของฉัน น้อยกว่าคนที่พูดความจริง เหมือนพยายามสร้างระยะห่างระหว่างพวกเขากับเรื่องราวที่แต่งขึ้น เหมือนไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่องนั้นๆ เช่น "เอกสารส่งไปเมื่อวานนี้" ซึ่งตรงข้ามกับคำพูดตรงๆบ่งบอกว่าเป็นเรื่องของตัวเองอย่าง "ฉันส่งเอกสารไปเมื่อวานนี้" อย่างที่สองคือ นักโกหกจะไม่ค่อยใช้คำแยกประโยค อย่างคำว่า แต่, ไม่ว่า, นอกเสียจาก, ถึงแม้ว่า เพราะพวกนี้จะมีปัญหากับการคิดซับซ้อนโดยคำที่ใช้นั้นก็ฟ้องอยู่แล้ว
3.อย่ามองแค่ตา
เรามักจะคิดว่าตาหลุกหลิกคือสัญญาณที่รู้กันดีว่าโกหก แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือ เหตุการณ์ตอนนั้นด้วย (นักเล่นโป๊กเกอร์ถึงระวังไม่ให้ตา "แบไต๋" จนเกินไป)
"ถ้าคนคนนั้นมองไปทางอื่นขณะครุ่นคิดเรื่องหนักๆอยู่ไม่ถือว่ามีพิรุธ" โอซุลลิแวนกล่าว "แต่ถ้าเขาเฉไฉมองไปทางอื่นขณะตอบคำถามที่น่าจะง่าย นี่สิน่าสงสัย"
หัวข้อที่โกหกก็เป็นประเด็นสำคัญ "ถ้าคนโกหกเรื่องที่อับอาย ยากที่เขาจะมองตาเราได้" โอซุลลิแวนกล่าว " แต่สำหรับคำโกหกที่ไม่มีพิษภัย ไม่มีอะไรต้องอายในการโกหก คนเราก็จะจ้องตาได้นานขึ้น"
4. สังเกตดูภาษากายโดยรวม
อวัยวะเพียงส่วนเดียวของร่างกาย อย่างเช่น ตา จมูก หู หรือมือ ไม่ได้บอกเราทั้งหมด เมื่อพูดถึงการโกหก มันไม่ง่ายอย่างนั้น "ไม่มีจมูกแบบพิน็อกคิโอให้สังเกตหรอก" เอ็กแมนบอกอย่างหนักแน่น "จะจับโกหกให้แม่นยำ คุณต้องพิจารณาดูความกลมกลืนของสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ตลอดจนคำพูด"
นั่นหมายถึงการสังเกตคนคนนั้น "โดยรวม" "และเราจะต้องตีความอาการพิรุธจากพฤติกรรมโดยปกติของคนคนนั้น" โอซุลลิแวนกล่าว "ความเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆของมือที่เปลี่ยนไป หรือการใช้มือประกอบท่าทางมากขึ้น ท่ายักไหล่ที่ไปกันไม่ได้กับสิ่งที่พูด พวกนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง" เธอบอก รวมไปถึงท่าทางที่เปลี่ยนไปในระหว่างการสนทนาด้วย
จับตาดู "สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม" เธอชี้ "อย่างเช่นคนเงียบๆที่อยู่ๆก็พูดมาก คนที่ปกติเคยพูดมากกลับเงียบ นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาโกหกเสมอไป แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาประเมิน"
5. จับอารมณ์ที่ "เล็ดลอด" ออกมา
หลายครั้งที่สีหน้าเพียงแวบเดียวสามารถบอกได้มากมายว่า เขารู้สึกอย่างไรหรือกำลังคิดอะไร ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เขาพยายามสร้างภาพ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสีหน้าเพียงชั่วแวบนี้ ซึ่งบางทีก็เกิดขึ้นแค่เสี้ยววินาที ไม่ง่ายนักที่จะจับได้ แม้แต่มืออาชีพที่ฝึกศาสตร์ในการจับโกหกอย่างตำรวจ ผู้พิพากษา หรือทนายก็มองไม่ทันอยู่บ่อยๆ และคนที่จงใจโกหกก็มักจะกลบเกลื่อนเช่นใช้รอยยิ้มเพื่ออำพราง
แต่ก็ยังมีช่องโหว่ "ไม่สำคัญว่าเขาจะยิ้มบ่อยแค่ไหน แต่ประเภทของยิ้มต่างหากที่สำคัญ" เอ็กแมนแนะ "ยิ้มที่มาจากความสุข ใจที่แท้จริงไม่ใช่ยิ้มแค่ปาก แต่กล้ามเนื้อรอบๆดวงตาต้องยิ้มไปด้วย ผิดกับยิ้มแบบใส่หน้ากากที่ต้องการปกปิดความกลัวความโกรธ ความเศร้า หรือความเกลียด ถ้าช่างสังเกต คุณจะเห็นร่องรอยอารมณ์เหล่านี้เล็ดลอดออกมา"
หวังว่าคราวหน้าถ้ามีใครโป้ปดกับคุณ คุณ จะรู้วิธีจับโกหกได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น