7.16.2555

..เคล็ดไม่ลับ สัมภาษณ์งานให้ได้งาน สำหรับเด็กจบใหม่


หากพูดถึงเรื่องการสมัครงานและการสัมภาษณ์งานแล้ว คงจะไม่มีใครรู้สึกตื่นเต้นและลุ้นตัวโก่งได้มากเท่ากับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การสัมภาษณ์งานที่ไหนเป็นแน่ ก็แหงล่ะ ทั้งไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งไม่เคยสัมภาษณ์งานมาก่อน ก็เลยไม่แปลกที่น้อง ๆ หลายคนจะรู้สึกประหม่า กล้า ๆ กลัว ๆ บางคนพอเห็นคุณสมบัติที่บริษัทต่าง ๆ ต้องการ ก็ถึงกับไม่กล้าสมัครงานเลยด้วยซ้ำ
วันนี้กระปุกดอทคอม ก็เลยขอรวบรวมเคล็ดลับเกี่ยวกับการสมัครงานและการสัมภาษณ์งานมาฝาก สำหรับน้อง ๆ เพิ่งเรียนจบโดยเฉพาะ เพื่อเป็นแนวทางให้น้อง ๆ ได้สมัครงานตรงกับความสามารถ และสัมภาษณ์งานผ่านฉลุย ซึ่งไม่ยากอย่างที่คิดเลยค่ะ เอ้า ว่าแล้วก็ไปดูกันดีกว่า ว่าควรต้องทำยังไงกันบ้าง

1. สมัครงานให้ตรงความสามารถที่ตัวเองมี อย่าพยายามโปรยใบสมัครไปที่ไหนก็ได้ แม้รู้ว่าตัวเองไม่ได้อยากทำงานนั้น แต่ขอให้เลือกงานที่ตรงกับความสามารถ และเป็นงานที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ แม้ว่าทางบริษัทจะกำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องมีประสบการณ์ 1-2 ปี ก็ตาม อย่าได้กลัว เพราะบางครั้งทางบริษัทอาจเลือกคุณไปสัมภาษณ์ก็ได้

2. แนบผลงานของตัวเองไปพร้อมประวัติ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจคท์ที่ทำตอนเรียน หรือผลงานที่เกี่ยวข้องกับสายงานนั้น อย่าอาย เชื่อสิว่าทางบริษัทไม่หยิบมันทิ้งก่อนอ่านอย่างแน่นอน เพราะมันยิ่งทำให้เขาได้เห็นระดับความสามารถของคุณชัดเจนขึ้น และประเมินความเป็นไปได้ในการทำงานของคุณได้ก่อนจะเรียกไปสัมภาษณ์

3. รู้จักอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ เมื่อคุณถูกเรียกสัมภาษณ์งานแล้ว แม้ว่าผู้สัมภาษณ์งานจะดูเป็นกันเองอย่างไร อย่าได้หลงแสดงพฤติกรรมเหมือนเพื่อน หรือพูดหยอกล้อเด็ดขาด ขอให้รักษากิริยาอ่อนน้อมไว้ให้ได้ตลอดการสัมภาษณ์ และท่องเอาไว้ว่า ผู้สัมภาษณ์ที่อยู่ตรงหน้านั้นกำลังจ้องมองพฤติกรรมของคุณอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปประเมินนั่นเอง

4. ตอบคำถามตรงไปตรงมาตามความคิดของตัวเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้การรักษาน้ำใจผู้สัมภาษณ์ด้วย เพราะการพูดตรงไปตรงมานี้ จะทำให้คุณพูดจาฉะฉานขึ้นโดยอัตโนมัติ และสามารถอธิบายเหตุผลสนับสนุนความคิดนั้นได้ ดังนั้น อย่าพยายามตอบคำถามที่เอาใจผู้ฟังมากเกินไปจนสวนทางกับความ คิดของตัวเอง เพราะถ้าหากคุณโดนถามต่อ ละเอียดลึกลงไป อาการพูดตะกุกตะกักเพราะ "ไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง" จะเกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ อย่าคิดว่าผู้สัมภาษณ์ดูไม่ออกนะ

5. อย่าอวดเก่ง หรือแสดงท่าทีมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากเกินไป ประเภทคุยโวโอ้อวดถึงความสามารถที่ตัวเองมี และเปรียบเทียบว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยผ่านการทำงานมาเลยนั้น มักจะตกสัมภาษณ์มานักต่อนักแล้ว เพราะมันแสดงถึงความอวดเก่ง ความมั่นใจในตัวเองเกินไป ซึ่งคนประเภทนี้มีแนวโน้มว่าจะยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นได้ยากเสียด้วย

6. เรียกเงินเดือนให้เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า คุณต้องไม่เข้าข้างตัวเองเกินไปด้วยนะ และถ้าเป็นไปได้ ควรสอบถามพูดคุยกับรุ่นพี่ หรือคนที่เคยทำงานนี้มาก่อน ว่าเงินเดือนที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่เท่าไร แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ควรยืดหยุ่นในเรื่องจำนวนเงินไว้บ้าง แม้จะน้อยกว่าที่คาดหวังนิดหน่อย แต่หากงานนั้นเป็นงานที่อยากทำและตรงตามความสามารถแล้วล่ะก็ ลองเข้าไปสัมผัสและเก็บประสบการณ์ดูเลย

7. ระวังเรื่องการตอบไม่ตรงคำถาม หรือการพูดออกนอกประเด็นเรื่อยเปื่อย เมื่อถูกถามคำถามที่ตอบได้เพียง ใช่ หรือ ไม่ใช่ ขอให้ตอบไปสั้น ๆ ตามนั้น และหากถามเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นคำถามเปิด อย่าตอบเรื่อยเปื่อยไม่มีทิศทาง ซึ่งแน่นอนว่า ผู้สัมภาษณ์อาจจะฟังคุณและพยักหน้าตามจนคุณพูดจบได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะประเมินคุณผ่าน จริงไหม?

8. อย่าออกอาการประหม่า จนพูดอะไรไม่ถูก หลายคนรู้สึกกลัวคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ยังไม่ถาม คิดไปก่อนแล้วว่ามันอาจจะยากจนตอบไม่ได้ ขอให้สลัดความคิดนี้ออกไป เพราะมันจะทำให้คุณประหม่า และตอบคำถามต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนรู้สึกเสียดายเมื่อการสัมภาษณ์สิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้น ก่อนสัมภาษณ์ขอให้ตั้งสติดี ๆ และอย่ากดดันตัวเองระหว่างการสัมภาษณ์ แม้ว่าบรรยากาศจะชวนให้รู้สึกอย่างนั้นก็ตาม ขอให้ปล่อยทุกอย่างดำเนินไปอย่างผ่อนคลาย ถ้าคำถามไหนตอบได้ไม่ดีนัก ก็ตั้งสติตอบคำถามต่อไปดีกว่า

รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าน้อง ๆ คงจะรู้แนวทางในการสมัครและสัมภาษณ์งานเพื่อให้ได้งานกันมากขึ้นแล้วนะคะ แต่ถ้าหากยังไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงานล่ะก็ อย่าเพิ่งหมดหวังค่ะ ขอให้เชื่อว่ามีคนที่ต้องการตัวเรารออยู่ข้างหน้า แต่เรายังหาไม่เจอเท่านั้นดีกว่าเนอะ

(เครดิต:กระปุกดอทคอม )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น